ก่อนที่คอนเสิร์ตจะเริ่ม ทุกคนอาจสงสัยว่าทำไมเวลาที่แสงไฟยังไม่สว่างเต็มที่และศิลปินยังไม่ออกมา จะมีแค่เสียงเครื่องดนตรีดังขึ้นเป็นช่วง ๆ พร้อมกับความเงียบในฮอลล์ นั่นคือช่วงเวลาของการซาวด์เช็ค (Soundcheck) ขั้นตอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ก่อนการแสดงสด เพราะมันช่วยให้ทีมงานและศิลปินปรับแต่งเสียงให้สมดุลที่สุด ทั้งเสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรีและระบบเสียงโดยรวม เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์คอนเสิร์ตที่สมบูรณ์แบบและไร้ที่ติ มาทำความรู้จักกับขั้นตอนการทำ Soundcheck และเหตุผลที่ทำให้ขั้นตอนนี้มีความสำคัญกัน
ซาวด์เช็ค (Soundcheck) คืออะไร?
Soundcheck คือขั้นตอนการทดสอบและปรับแต่งระบบเสียงทั้งหมดก่อนที่การแสดงจริงจะเริ่มต้นขึ้น ไม่ใช่แค่การเสียบสายแล้วเล่นเลย แต่มันคือขั้นตอนที่จะทำให้เสียงทุกอย่างออกมาเพอร์เฟกต์ที่สุด โดยจะปรับจูนเสียงของเครื่องดนตรีและเสียงร้องทุกชิ้นให้เข้ากับสภาพอะคูสติกของสถานที่นั้น ๆ และยังช่วยป้องกันปัญหาเสียงหอน เสียงแตกพร่าหรือเสียงที่ฟังไม่รู้เรื่อง เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ทางดนตรีที่ดีที่สุดนั่นเอง
ทำไมต้องซาวด์เช็คก่อนแสดง?
บางคนอาจคิดว่า การ Soundcheck เป็นเรื่องเสียเวลา แต่ความจริงแล้วมัน คือการลงทุนเพื่อให้โชว์ออกมาปังที่สุด เหตุผลหลัก ๆ ก็คือ
- เพื่อให้คุณภาพเสียงบนเวทีและในห้องคนดูสมดุล การซาวด์เช็คช่วยให้ Sound Engineer ปรับสมดุลเสียงที่ศิลปินได้ยินบนเวที (Monitor) และเสียงที่ผู้ชมได้ยินในฮอลล์ (Front of House) ให้เท่ากัน ระหว่างงานศิลปินก็จะได้ยินตัวเองชัด ทำให้สามารถร้องหรือเล่นดนตรีได้ดี คนดูฟังแล้วก็แฮปปี้ตาม
- ลดโอกาสเกิดปัญหาเสียงขณะโชว์ ลองจินตนาการถึงตอนที่กีตาร์โซโล่สุดเดือด แต่เสียงกลับไม่ออกลำโพง หรือไมโครโฟนจู่ ๆ ก็หอนขึ้นมากลางเพลงบัลลาดซึ้ง ๆ เพราะฉะนั้นการทำ Soundcheck คือการไล่เช็กและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ล่วงหน้านั่นเอง
- ช่วยให้ศิลปินมั่นใจและแสดงได้อย่างเต็มที่ เมื่อศิลปินรู้ว่าซาวด์บนเวทีของตัวเองนั้นยอดเยี่ยม พวกเขาก็จะคลายกังวลและปลดปล่อยพลังการแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่แบบ 100% ไม่ต้องมาคอยลุ้นว่าเสียงจะดีหรือไม่ดี
- เป็นการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และทีมงาน ช่วงเวลานี้ คือการซิงค์กันครั้งสุดท้ายของทุกฝ่าย ทั้งทีมเวที ทีมไฟและทีมเสียง ทุกคนจะได้รู้คิวและพร้อมสำหรับโชว์จริง
4 ขั้นตอนการซาวด์เช็คอย่างมืออาชีพ
อยากรู้ไหมว่ามือโปรเขาซาวด์เช็คกันยังไง? ถึงแม้รายละเอียดจะต่างกันไปบ้างในแต่ละวง แต่โฟลว์หลัก ๆ มักจะเป็นแบบนี้

1. ตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งหมดก่อนเริ่ม
ก่อนจะเริ่มเล่นอะไรทั้งนั้น ขั้นตอนแรกคือการเช็กอุปกรณ์ทุกชิ้น ตั้งแต่สายแจ็ค ไมโครโฟน ไปจนถึงเอฟเฟกต์ก้อน ต้องมั่นใจว่าทุกอย่างเชื่อมต่อถูกต้องและทำงานได้ปกติ เหมือนเป็นการตรวจเช็กร่างกายก่อนออกกำลังกายยังไงยังงั้น
2. เริ่มจากเสียงร้อง แล้วตามด้วยเครื่องดนตรีทีละชิ้น
ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากเสียงร้องซึ่งเป็นหัวใจของเพลงก่อน เมื่อปรับเสียงร้องให้คมชัดและพอดีแล้ว ก็จะค่อย ๆ ไล่เช็กเสียงเครื่องดนตรีทีละชิ้น อาจจะเริ่มจากกลอง เบส กีตาร์ คีย์บอร์ด เพื่อให้ซาวด์เอนจิเนียร์ได้โฟกัสกับเสียงแต่ละอย่างได้อย่างเต็มที่
3. ปรับบาลานซ์เสียงบนเวที (Monitor) และนอกเวที (Front of House)
ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ซาวด์เอนจิเนียร์จะทำงานร่วมกับศิลปินเพื่อปรับเสียงที่ออกจากลำโพงบนเวที (Monitor) ให้ศิลปินแต่ละคนได้ยินเสียงของตัวเองและเพื่อนร่วมวงอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน ก็จะปรับเสียงที่ส่งออกไปให้คนดู (FOH) ให้มีความสมดุล มีมิติที่ชัดเจน ทั้งเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรี เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจและเต็มอารมณ์ให้กับผู้ชมในทุกพื้นที่ของฮอลล์
4. ทดสอบเพลงหรือพาร์ตสำคัญของโชว์
เมื่อปรับเสียงทุกอย่างเข้าที่แล้ว ก็ถึงเวลาลองเล่นเพลงตัวอย่าง อาจจะเป็นท่อนฮุคที่หนักที่สุด ท่อนที่เบาที่สุด หรือท่อนที่มีไดนามิกซับซ้อน เพื่อให้แน่ใจว่าการตั้งค่าเสียงที่ทำมาทั้งหมดนั้นเอาอยู่และพร้อมสำหรับทุกพาร์ตของโชว์จริง
6 เทคนิคซาวด์เช็คให้มีคุณภาพ ใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลจริง
เมื่อปรับเสียงทุกอย่างเข้าที่แล้ว ก็ถึงเวลาลองเล่นเพลงตัวอย่าง อาจจะเป็นท่อนฮุคที่หนักที่สุด ท่อนที่เบาที่สุด หรือท่อนที่มีไดนามิกซับซ้อน เพื่อให้แน่ใจว่าการตั้งค่าเสียงที่ทำมาทั้งหมดนั้นเอาอยู่และพร้อมสำหรับทุกพาร์ตของโชว์จริง

1. เตรียมตัวล่วงหน้า ทั้งอุปกรณ์และ Playlist
การเตรียมตัวล่วงหน้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ Soundcheck ราบรื่น เริ่มจากการจัดทำ Playlist เพลงที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบเสียง โดยควรเลือกเพลงที่มีไดนามิกหลากหลาย ตั้งแต่เสียงเบาไปจนถึงเสียงดัง เพื่อให้ทีมงานสามารถปรับจูนเสียงในทุกช่วงความถี่ได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ ควรตรวจสอบอุปกรณ์เสียงของตัวเองให้พร้อมใช้งาน เช่น ไมโครโฟน สายสัญญาณ หูฟังและเครื่องดนตรีต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในวันจริง การเตรียมความพร้อมอย่างครบถ้วนนี้จะช่วยประหยัดเวลา ลดความตึงเครียดและทำให้การซาวด์เช็คดำเนินไปอย่างราบรื่น ทำให้การแสดงจริงมีคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด
2. ซาวด์เช็คไม่ใช่การซ้อม ควรเน้นที่การเช็คเสียง
Soundcheck คือขั้นตอนสำคัญที่ใช้ตรวจสอบและปรับแต่งเสียง ไม่ใช่การซ้อมแสดงจริง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเล่นเพลงเต็ม หรือใส่พลังเสียงเต็มที่เหมือนตอนแสดงจริง ควรเล่นด้วยระดับเสียงที่ใกล้เคียงกับการแสดงจริง เพื่อให้ Sound Engineer สามารถปรับแต่งเสียงได้อย่างแม่นยำและเหมาะสมที่สุด การเน้นการเช็คเสียงในแต่ละเครื่องดนตรีและไมโครโฟนจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเสียงออกมาคุณภาพดี ไม่มีเสียงก้องหรือเสียงแหลมที่รบกวน นอกจากนี้ การซาวด์เช็คยังช่วยให้ศิลปินและทีมงานคุ้นเคยกับระบบเสียง ลดความกังวลและพร้อมสำหรับการแสดงจริงได้ดียิ่งขึ้น
3. สื่อสารกับทีมซาวด์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
การสื่อสารที่ชัดเจนกับ Sound Engineer จะช่วยแก้ไขปัญหาเสียงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะบอกเพียงว่า ซาวด์มันแปลก ๆ ควรบอกรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น ขอเพิ่มเสียงร้องในมอนิเตอร์หน่อย หรือเสียงกีตาร์แหลมเกินไป การใช้คำอธิบายที่เจาะจงแบบนี้ช่วยให้ทีมซาวด์เข้าใจสิ่งที่คุณต้องการได้ตรงจุดและสามารถปรับแต่งเสียงได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ อย่าลืมเปิดใจรับคำแนะนำจากทีมซาวด์ เพราะพวกเขาคือผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยให้เสียงออกมาดีที่สุดและช่วยให้การแสดงของคุณสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
4. เริ่มจากเสียงเบส-กลอง แล้วค่อยไล่ไปเครื่องดนตรีอื่น
อีกหนึ่งเทคนิคที่ คือการเริ่มต้นจากการปรับเสียงเครื่องดนตรีที่เป็นแกนหลักของวงอย่างกลองและเบสก่อน เพราะเป็นย่านความถี่ต่ำที่คอยกำหนดจังหวะและจังหวะพื้นฐานของเพลง เมื่อเสียงเบสและกลองถูกปรับให้ออกมาชัดเจนและสมดุลแล้ว ก็จะทำให้การเติมเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ดหรือเครื่องดนตรีประเภทอื่น ๆ สามารถทำปรับจูนได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. อย่าตะโกนหรือเล่นเสียงดังระหว่างคนอื่นเช็ก
เมื่อมีคนกำลังโฟกัสตรวจสอบเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงการเล่นเสียงดัง หรือพูดคุยตะโกนรบกวน เพราะจะทำให้การปรับเสียงไม่แม่นยำ และอาจเกิดความผิดพลาดในการตั้งค่าระบบเสียง การรักษาความสงบในช่วงซาวด์เช็คจะช่วยให้ทุกคนได้โฟกัสกับงานของตนเอง ทำให้ขั้นตอนนี้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพและการทำงานร่วมกันอย่างเคารพในทีมอีกด้วย
6. ฟัง Feedback จากทั้งทีมบนเวทีและคอนโทรล
เสียงที่ยอดเยี่ยมไม่ได้เกิดขึ้นจากคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากความร่วมมือและการสื่อสารที่ดีระหว่างทีมทั้งหมดในเวทีและห้องคอนโทรล ซาวด์เอนจิเนียร์และเพื่อนร่วมวงอาจได้ยินรายละเอียดหรือปัญหาที่เราเองไม่สามารถสังเกตได้ ดังนั้น การเปิดใจรับฟัง Feedback จากทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความคิดเห็นเหล่านี้จะช่วยให้ปรับแต่งเสียงได้ตรงจุดและเหมาะสมกับทุกคนมากที่สุดนั่นเอง
คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับการซาวด์เช็ค
ซาวด์เช็คใช้เวลานานแค่ไหน?
โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของวงดนตรีและสเกลของงานด้วย
ต้องซาวด์เช็คทุกงานไหม?
แนะนำให้ทำทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อต้องไปแสดงในสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย การซาวด์เช็คจะช่วยให้คุณพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
Soundcheck ต่างจากการซ้อมยังไง?
ซาวด์เช็ค คือการปรับคุณภาพและทดสอบระบบเสียงให้สมบูรณ์ ส่วนการซ้อมคือการฝึกซ้อม การแสดงและคิวต่าง ๆ ให้แม่นยำ
ถ้าไม่มีเวลาซาวด์เช็ค ควรทำยังไง?
สถานการณ์คับขันจริง ๆ ควรเตรียม Preset เสียงของตัวเอง (ถ้ามี) ไปให้ซาวด์เอนจิเนียร์ และสื่อสารบรีฟกับทีมงานล่วงหน้าให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
ศิลปินต้องอยู่ครบทุกคนตอนซาวด์เช็คไหม?
ควรจะอยู่ให้ครบทุกคน! เพราะเสียงบนเวทีที่แต่ละคนได้ยินนั้นไม่เหมือนกัน การอยู่พร้อมหน้าจะทำให้การปรับสมดุลเสียงมอนิเตอร์แม่นยำและดีที่สุดสำหรับทุกคน

สรุปบทความ
ซาวด์เช็ค (Soundcheck) เป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามก่อนการแสดงสด เพราะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ระบบเสียงทั้งหมดได้รับการปรับแต่งอย่างเหมาะสม ทั้งเสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรีและเสียงจากลำโพงบนเวทีและในห้องคนดู ซึ่งขั้นตอนนี้จะช่วยลดปัญหาเสียงระหว่างโชว์ ทำให้ศิลปินมั่นใจและพร้อมแสดงได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคเสียง แต่คือการเตรียมเวทีให้พร้อมสำหรับความทรงจำที่ดีที่สุดของทั้งผู้แสดงและผู้ชม เพราะเมื่อเสียงพร้อม ใจพร้อม โชว์ก็พร้อมเปล่งประกายในทุกวินาทีเช่นกัน